วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552

หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา เพชรบุรี

หลวงพ่อทอง
วัดเขาตะเครา เพชรบุรี
หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา เพชรบุรี

วัดเขาตะเครา ตั้งอยู่ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เป็นวัดที่เก่าแก่มีชื่อเสียงมาแต่โบราณ ทั้งนี้เพราะมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่ง ที่คนทั่วไปเรียกว่า “หลวงพ่อวัดเขาตะเครา หรือหลวงพ่อปู่ทองวัดเขาตะเครา” ดังจะเห็นได้จากนิราศเมืองเพชร ของมหากวีเอกของไทยที่กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
...ไปครูหนึ่งถึงเขาเคราสวาทมีอาวาสวัดวามหาเถรมะพร้าวรอบขอบที่บริเวณพอจวนเพลพักร้อนผ่อนสำราญกับหนูพัดจัดธูปเทียนดอกไม้ขึ้นไปไหว้พระสัมฤทธิ์พิษฐานเขานับถือลือมาแต่บุราณใครบนบานพระก็รับช่วยดับร้อน...

สุนทรภู่ประพันธ์บทนิราศเมืองเพชรไว้ เมื่อ พ.ศ. 2374 เป็นหลักฐานสำคัญอันหนึ่งที่ใช้ให้เห็นว่า หลวงพ่อวัดเขาตะเครา เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ มีชาวบ้านเคารพนับถือมาช้านานแล้ว สุนทรภู่คงทราบกิตติศัพท์ความศักดิ์ ผ่านมาจึงแวะขึ้นนมัสการ นอกจากนี้ยังมีหลักฐานจารึกเป็นภาษาจีนติดแผ่นหนึ่งแปลได้ความว่า ช่วยบำบัดทุกข์ประชาชน อีกแผ่นหนึ่งแปลว่า ลูกศิษย์หลวงพ่อเฮ่งเจี๊ยมชัว เป็นผู้ถวาย อีกแผ่นหนึ่งบอกถึงว่าบ้านที่เกิดของลูกศิษย์คนนั้น อยู่ที่ไคง้วนเลี้ยงไผ่ขงจั้ว เหล่านี้นับว่าเป็นหลักฐานยืนยันอีกประการหนึ่ง ถึงความสำคัญ ของพระพุทธรูปองค์นี้
พระพุทธรูป “หลวงพ่อวัดเขาตะเครา” ที่เห็นปรากฏภายนอก เป็นพระพุทธรูปนั่ง ปางมารวิชัยสูง 29 นิ้ว หน้าตักกว้าง 21 นิ้ว ยังไม่ทราบว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อหรือรูปปั้น เพราะปัจจุบันปิดทองที่องค์พระพุทธรูปหนามากจนทำให้ไม่เห็นองค์เดิม นัยว่าพระพุทธรูปองค์จริงเป็นทองคำหรือทองสัมฤทธิ์จากนิราศสุนทรภู่ คนโบราณเกรงจะสูญหายจึงทำองค์ใหม่หุ้มไว้ชั้นหนึ่ง ดังที่ปรากฏตามประวัติของหลวงพ่อวัดเขาตะเครา ที่เล่ากันสืบมานั้นเป็นนิยายปรัมปราดังนี้
เล่ากันเดิมทีเดียวนั้นมีพระสงฆ์ 2 องค์ สมเณร 1 องค์ เป็นพี่น้องกันซึ่งมีฤทธิ์เดชเวทมนตร์แรงกล้ามากทั้งสามองค์ ได้ทดลองวิชากันองค์ที่ทำน้ำมนต์ไว้ สั่งองค์ที่สองว่าถ้าโดดลงไปในน้ำแล้ว กลายเป็นพระพุทธรูปลอยขึ้นมา ให้ใช้น้ำมนต์รดลงไปจึงจะกลับเป็นสงฆ์ตามเดิม เมื่อองค์พี่กระโดดลงไปในน้ำและกลายเป็นพระพุทธรูปลอยขึ้นมาจริง ๆ แล้วองค์ที่ 2 ไม่รดน้ำมนต์ และว่าเมื่อพี่ทำได้ตนก็ทำได้ องค์ที่ 2 จึงสั่ง องค์ที่ 3 ที่เป็นเณรว่าถ้ากระโดลงไป และกลายเป็นพระพุทธรูปลอยขึ้นมาแล้วให้ใช้น้ำมนต์รด แล้วองค์ที่ 2 กระโดลงไปกลายเป็นพระพุทธรูปลอยขึ้นมาอีก องค์ที่ 3 ที่เป็นเณรเห็นดังนั้นก็ว่าพี่ ๆ ทำได้ตนก็ทำได้ จึงกระโดดน้ำลงไปบ้างก็กลายเป็นพระพุทธรูปลอยขึ้นมา เมื่อไม่มีองค์ใดเอาน้ำมนต์รดเช่นนี้จึงกลายเป็นพระพุทธรูปลอยน้ำอยู่เช่นนั้น
ต่อมาได้แสดงอภินิหาร โดยลอยน้ำขึ้นล่องอยู่ที่ ร.พัน 2 ทหารช่างอยุธยาเกาะลอยขึ้นที่คุ้งน้ำ ซึ่งภายหลังเรียกว่า “คุ้ง 3 พระทาน”(ซึ่งปัจจุบันเพี้ยนไปเรียกเป็นสัมปะทวน) แล้วต่อมาอยู่ที่ที่หัววน (คือเอาเศียรวน) ต่อมาลอยอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา โสธร มีผู้รู้เอาสายสิญจน์ไปผูกปลูกศาลเพียงตา อาราธนาอัญเชิญองค์กลางขึ้น เหลือ 2 องค์ ลอยมาโผล่ที่สามเสนปัจจุบัน ชาวสามเสนได้เอาเชือกสามเส้นผูกพระพุทธรูป แล้วฉุดด้วยกำลังคนเป็นจำนวนมากก็ไม่ขึ้น จนกระทั่งเชือกสามเส้นนั้นขาด พระพุทธรูป 2 องค์นั้นก็จมน้ำหายไปที่นั้น จึงเรียกว่าสามเส้น และต่อมาเพี้ยนเป็นสามเสน
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2302 สมัยกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงต่อพม่า ชาวบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี อพยพหนีพม่าไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ปากคลองแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม ใกล้กับวัดบ้านแปลม หรือวัดเพชรสมุทร เดิมชื่อวัดศรีจำปา ปัจจุบันเรียก วัดบ้านแหลม หรือวัดเพชรสมุทรปัจจุบัน วัดศรีจำปานี้เป็นวัดร้างเพราะทรุดโทรม ชาวบ้านแหลมที่อพยพไปยู่ได้ช่วยกันบูรณะก่อสร้างใหม่ แล้วให้ชื่อว่าวัดบ้านแหลม เป็นหนึ่งชาวบ้านเหล่านี้ซึ่งมีอาชีพทางประมงออกไปเที่ยวหาปลาลากอวนไปพบพระพุทธรูป 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่งองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปยืน จึงนำพระพุทธรูปองค์ยืนไปประดิษฐานไว้ ณ วัดบ้านแหลม (วัดศรีจำปา) ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกว่า “หลวงพ่อบ้านแหลม” ตามนามที่ได้พระพุทธรูปมาอีกองค์หนึ่งคือพระพุทธรูปนั่ง ได้มอบให้กับชาวบางตะบูน ซึ่งคงจะเป็นพรรคพวกหรือญาติพี่น้อง ชาวบางตะบูนจึงนำมาประดิษฐานไว้ ณ วัดเขาตะเครา และเรียกกันว่า “หลวงพ่อวัดเขาตะเครา” จนปัจจุบันถ้าจะนับแต่ปีที่นำมาถึง ปี 2520 นี้ วัดเขาตะเครา จะมีอายุ 213 ปี
เขาตะเครานี้สันนิษฐานเอาว่ามีเจ้าสัวชาวจีนผู้หนึ่งมีศรัทธามาก เมื่อได้พระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานเป็นมิ่งขวัญแล้ว จึงสละทรัพย์สร้างเป็นวัดขึ้น โดยให้ลูกน้องคนหนึ่งไม่ปรากฏชื่อ คอบควบคุม ซึ่งเป็นชาวจีนเหมือนกัน จีนผู้ควบคุมนี้เอาไว้หนวดเครายาว เพราะเป็นที่นิยมของชาวจีนสมัยโน้น ชาวบ้านเห็นจีนไว้เครายาวดังนี้ จึงเรียกวัดและเขาผนวกกันเข้าไปว่า “วัดเขาจีนเครา” ต่อมาคำว่าจีนเป็นคำที่เรียกยากและไม่คุ้นหูของชาวบ้านในสมัยต่อมาจึงเปลี่ยน “จีน” เป็น “ตา” เพราะง่ายดี และเป็นชื่อที่เหมาะสมของคนที่มีอายุ เรียกว่าภาษาพาไป เมื่อกาลนานมาภาษาจะกร่อนเข้า “สระอา” เป็น “สระอะ” ไปจึงเปลี่ยน “ตา” เป็น “ตะ” เมื่อสรุปแล้วได้ความตามนามปัจจุบันว่า “วัดเขาตะเครา”


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น