วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552

หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน สมุทรปราการ


วัดบางพลีใหญ่ใน หรือ "วัดหลวงพ่อโต" เหตุทีเรียกดังนี้ ก็เพราะว่ามีพระพุทธรูปปางมารวิชัย (สะดุ้งมาร) ใหญ่โตมาก เนื้อเป็นทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ หน้าตักกว้าง 3 ศอก 3 คืบ ลืมพระเนตร เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถของวัดบางพลีใหญ่ใน

ตามตำนานประวัติของหลวงพ่อโต ที่ทางวัดเล่าสืบต่อกันมาว่าประมาณกาล 200 กว่าปีล่วงมาแล้ว ได้มีพระพุทธรูป 3 องค์ ปาฏิหาริย์ลงมาทางเหนือ ลอยตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดมา พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์นี้ เข้าใจว่าปวงชนในกรุงศรีอยุธยาคงอาราธนาท่านลงสู่แม่น้ำเพื่อหลบหนีข้าศึก ด้วยในสมัยนั้นบ้านเมืองได้เกิดสภาวะสงครามขึ้นกับพม่า พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ได้แสดงอภินิหารลอยล่องมาตามลำแม่น้ำ และบางครั้งก็แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ผุดให้คนเห็นตามลำดับ จนเป็นที่โจษจันกัน ทั่วถึงอภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ของท่านจนล่วงมาถึงตำบลตำบลหนึ่ง ท่านก็ได้ผุดให้คนเห็นเป็นอัศจรรย์ พวกเหล่าประชาชนในตำบลนั่นต่างก็พร้อมใจกันทำพิธีอาราธนาท่านขึ้นสู่ฝั่งฝูงชนประมาณ 3 แสนคน ช่วยกันฉุดลากชะลอองค์ท่าน ก็ไม่สามารถนำท่านขึ้นสู่ฝั่งได้ และท่านก็กลับจมหายไปในแม่น้ำอีก ต่อมาตำบลนั้นจึงถูกเรียกชื่อว่า "ตำบลสามแสน" แต่ต่อมาก็ถูกเรียกกลับกลายเป็น "ตำบลสามเสน" มาจนกระทั่งบัดนี้
พระพุทธรูปได้ล่องลอยทวนน้ำมาทั้ง 3 องค์ โดยลำดับ ครั้งหนึ่งปรากฏว่าได้ล่องลอยไปจนถึงจังหวัดฉะเชิงเทรา แสดงอภินิหารปรากฏให้ผู้คนเห็นอีก ประชาชนต่างก็ได้ช่วยกันอาราธนาและฉุดชะลอท่านขึ้นจากลำน้ำ แก่ก็ไม่สำเร็จอีก

พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ได้ลอยทวนน้ำ และจมหายไป ณ ที่แห่งนั้น จึงได้ชื่อว่าสามพระทวน แต่ต่อมาก็ได้เปลี่ยนเรียกกันอีกเป็น สัมปทวน คือแม่น้ำหน้าวัดสัมปทวน อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ในปัจจุบัน พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ ท่านล่องลอยผ่าน ณ ที่ใด ที่นั่นก็จะมีชื่อเรียกกันใหม่ทุกครั้ง ดังเช่น ท่านได้แสดงอภินิหารล่องลอยให้ผู้คนเห็นเป็นอัศจรรย์เรื่อยมาในแม่น้ำบางปะกง ผู้คนมากมายพยายามที่จะอาราธนาท่านขึ้น แต่ก็ไม่สำเร็จอีก ณ สถานที่นั้นจึงได้มีเรียกชื่อกันว่า "บางพระ" ซึ่งเรียกว่า คลองบางพระในปัจจุบัน ครั้นต่อมาภายหลังปรากฏว่าพระพุทธรูปองค์หนึ่งไปขึ้นประดิษฐานอยู่ที่ วัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรปราการ และต่อมาในเวลาไล่เลี่ยกัน พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งก็ไปขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา

และอีกองค์หนึ่งได้ล่องลอยเรื่อยมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาปาฏิหาริย์ลอยวกเข้ามาในลำคลองสำโรง ประชาชนพบเห็นต่างโจษจันกันไปทั่วถึงความศักดิ์สิทธิ์และอภินิหาร พร้อมกับพากันอาราธนาท่านขึ้นที่ปากคลองสำโรงนั้น แต่ท่านก็ไม่ยอมขึ้น และในที่นั้นได้มีผู้มีปัญญาคนดีคนหนึ่งได้ให้ความเห็นว่าคงเป็นเพราะบุญญาอภินิหารของท่าน แม้จะใช้จำนวนผู้คนสักเท่าไรอาราธนาฉุดท่านขึ้นบนฝั่งคงไม่สำเร็จเป็นแน่ ควรจะเสี่ยงทายต่อแพผูกชะลอกับองค์พระ แล้วใช้เรือพายฉุดท่านให้ลอยมาตามลำน้ำสำโรงและอธิษฐานว่า
"หากท่านประสงค์จะขึ้นโปรดที่ใด ก็ขอจงได้แสดงอภินิหารให้แพที่ลอยมาจงหยุด ณ ที่นั้นเถิด"
เมื่อประชาชนทั้งหลายได้เห็นพ้องดีกันดังนั้นก็พร้อมใจกันทำแพผูกชะลอกับองค์ท่าน แล้วใช้เรือซึ่งสมัยนั้นเป็นเรือพายทั้งสิ้นช่วยกันจ้ำพายจูงและลอยเรื่อยมาตามลำคลอง เรือที่ใช้ลากจูงแพมานั้นมีชื่อแปลกต่าง ๆ กัน เช่น ชื่อม้าน้ำ เป็ดน้ำ ตุ๊กแก และอื่น ๆ เป็นต้น ละจัดให้มีการละเล่นต่าง ๆ มีละครเจ้ากรับรำถวายมาตลอดทาง และการละเล่นอื่น ๆ ครึกครื้นมาตลอดทั้งลำน้ำ ครั้นแพลอยมาถึงบริเวณหน้าวัดพลับพลาชัยชนะสงคราม หรือวัดบางพลีใหญ่ใน ในปัจจุบันนี้ แพที่ผูกชะลอองค์ท่านก็เกิดหยุดนิ่ง พยายามจ้ำและพายกันอย่างเต็มที่เต็มกำลัง แพนั้นก็หาไม่ขยับเขยื้อนไม่ ประชาชนที่มากับเรือและชาวบางพลีถึงกับขนลุกซู่ เห็นเป็นอัศจรรย์ยิ่งนัก ต่างก้มกราบนมัสการด้วยความเคารพ และเปี่ยมด้วยสักการะจึงได้พร้อมใจกันอาราธนาตั้งจิตอธิษฐานว่า
"ถ้าหลวงพ่อจะโปรดคุ้มครองชาวบางพลีให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขแล้ว ก็ขออาราธนาอัญเชิญองค์ท่านให้ขึ้นจากน้ำได้โดยง่ายเถิด"

และก็เป็นที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างมาก เพียงใช้คนไม่มากนักก็สามารถอาราธนาท่านขึ้นจากน้ำได้โดยง่าย ทำให้ประชาชนต่างแซ่ซ้องในอภินิหารของท่านอย่างยิ่ง และได้อาราธนาท่านขึ้นประดิษฐานในพระวิหารซึ่งต้องชะลอท่านขึ้นข้ามฝั่งผนังวิหาร เพราะขณะนั้นหลังคาพระวิหารยังไม่มีและประตูวิหารก็เล็กมาก ต่อจากนั้นท่านได้ประดิษฐานอยู่ในวิหารนั้นเรื่อยมา ครั้นต่อมาได้รื้อวิหารนั้นอีกเพื่อสร้างเป็นพระอุโบสถที่ถาวร จึงต้องชะลอ อาราธนาองค์ท่านมาพักไว้ยังศาลาชั่วคราว จนกระทั่งได้สร้างพระอุโบสถสำเร็จแล้ว จึงได้อาราธนาท่านไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถ เพื่อเป็นพระประธานของวัดบางพลีใหญ่ใน การที่ท่านได้พระนามว่า "หลวงพ่อโต" นั้นคงเป็นเพราะองค์ของท่านใหญ่โตสมกับที่ประชาชนเรียก คือใหญ่โตกว่าองค์ที่ลอยน้ำมาด้วยกันทั้ง 2 องค์ จึงถือเป็นนิมิตอันดีให้ประชาชนพากันถวายนามว่า "หลวงพ่อโต" เป็นสิ่งที่เคารพสักการะของชาวบางพลี และเป็นมิ่งขวัญของวัดบางพลีใหญ่ในมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

ประวัติวัดบางพลีใหญ่ใน
วัดบางพลีใหญ่ใน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดสมุทรปราการ วัดนี้อยู่ริมคลองสำโรง ห่างจากประตูน้ำสำโรงประมาณ 13 กิโลเมตร มีเนื้อที่ 40 กว่าไร่ เนื้อที่ตั้งวัดประมาณ 35 ไร่เศษ
วัดบางพลีใหญ่ใน เดิมชื่อ วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงเรียกวัดนี้ว่า วัดใหญ่ หรือวัดหลวงพ่อโต วัดนี้ทางประวัติศาสตร์จากโบราณคดีจารึกสืบต่อกันแต่ครั้งโบราณกาลกล่าวว่าสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยามาถึง 2 ครั้ง มาในปี พ.ศ. 2112 และ พ.ศ. 2310 สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงกอบกู้อิสรภาพสู่ความเป็นไทยอีกครั้งหนึ่ง พระองค์ทรงกระทำสงครามและได้มีชัยชนะแก่พม่าหลายต่อหลายครั้ง จนอาณาเขตของประเทศไทย (สยาม) ขยายออกไปอีกอย่างกว้างขวาง
ส่วนชื่อของตำบลนั้นได้มีชื่อว่า "บางพลี" ก็เพราเหตุที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงกระทำพิธีพลีกรรมบวรสรวงนั่นเอง ดังนั้นประชาชนทั้งหลายจึงเรียกว่า บางพลี และวัดพลับพลาชัยชนะสงครามก็ถูกเรียกตามตำบลนั้นอีกว่า "วัดบางพลี" ซึ่งชื่อนี้ประชาชนนิยมเรียกกันมากกว่าชื่อเดิม แต่เนื่องมาจากต่อมาได้มีการสร้างวัดขึ้นอีกอยู่ทางด้านนอก เรียกกันว่าวัดบางพลีใหญ่กลาง ส่วนวัดพลับพลาชัยชนะสงครามเป็นวัดที่อยู่ทางด้านใน มีอาณาเขตใหญ่โต ซึ่งต่อมาได้พระพุทธรูปองค์ใหญ่เป็นมิ่งขวัญของวัดจึงรียกว่า "วัดบางพลีใหญ่ใน" หรือ "วัดหลวงพ่อโต" มาจนตราบเท่าทุกวันนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น